การนอนกรนนั้นอาจเป็นเพียงแค่เสียงกรนรบกวนธรรมดา หรือเป็นสัญญาณเตือนถึง ภาวะอันตรายที่คนทั่วไป ไม่เคยนึกถึงหรือ ทราบมาก่อน เสียงกรนเกินจากการสั่นพริ้วสะบัดของลิ้นไก่ และเพดานอ่อนที่สั่นมากกว่าปกติ ขณะกำลังนอนหลับ สาเหตุที่ทำให้เกิดการสั่น เนื่องจาก เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ ไม่สามารถผ่านลงสู่หลอดลม และปอดได้อย่างสะดวก ทำให้กระแสลมที่ถูกปิดกั้นนั้น เกิดการหมุนวนทำให้ลิ้นไก่ และเพดานอ่อน เกิดการสั่นมากกว่าปกติ ทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น
อุบัติการของโรคนอนกรน
จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ผู้ชายนอนกรนมากกว่าผู้หญิง โดยพบว่าผู้ชายที่นอนกรน มีประมาณ 20-50% และมีปัญหาหยุดหายใจ จากทางเดินหายใจอุดตันขณะนอนหลับ มีประมาณ 25% ส่วนผู้หญิงที่นอนกรนมีประมาณ 10-20% และมีปัญหาหยุดหายใจประมาณ 10% แต่ถ้าศึกษาจำเพาะลงไปในกลุ่มอายุ 41-65 ปี พบว่าเพศชายมีอัตราการนอนกรนอยู่ที่ประมาณ 50% ในขณะที่เพศหญิง มีอัตราการนอนกรนจะเห็นว่าในผู้สูงอายุ จะมีผู้นอนกรนถึงเกือบครึ่งหนึ่งเลย
นอกจากนี้จากการศึกษาเปรียบเทียบโรคนอนกรนในระหว่างคนฝรั่งกับคนเอเชีย ในกลุ่มที่มีน้ำหนักและส่วนสูงพอๆกัน พบว่า คนเอเชียมีความรุนแรงของกานนอนกรนมากกว่าฝรั่งอย่างชัดเจน สาเหตุเกิดจากลักษณะโครงสร้างของกระดูกโหนกแก้มแบน ประกอบกับมีคางที่เล็กและถอยไปด้านหลัง ทำให้ช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอของคนเอเชียแคบมาก เกิดการตีบแคบและอุดตัน ได้ง่ายขณะนอนหลับ
ในเด็กไทยยังไม่มีการศึกษาถึงอุบัติการของโรคนอนกรน แต่คาดคะเนว่าน่าจะมีไม่น้อยทีเดียว
ชนิดความผิดปกติในการนอนกรน
การนอนกรนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ตามความรุนแรงหรือผลเสียต่อสุขภาพ
การนอนกรนธรรมดา คือการกรนที่ทำให้เกิดเสียงกรนธรรมดา ซึ่งจัดว่าเป็นชนิดไม่อันตราย
การนอนกรนที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย คือการกรนที่ทำให้เกิดเสียงรบกวน และมีผลเสียต่อสุขภาพด้วย ซึ่งจัดเป็นชนิดอันตราย
ชนิดแรกเป็นชนิดที่ไม่เป็นอันตราย
ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพเพียงแต่ก่อให้เกิดความรำคาญให้ผู้ที่อยู่ใกล้กลุ่มนี้มักมี การอุดกั้นทางเดินหายใจเพียงเล็กน้อย เนื่องจากเวลาเรานอนหลับสนิทจะเป็นเวลาที่กล้ามเนื้อต่างๆ คลายตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อบริเวณช่องคอด้วย ทำให้ลิ้นและลิ้นไก่ตกไปทางด้านหลังโดยเฉพาะในท่านอนหงาย ทำให้ทางเดินหายใจส่วนนี้ตีบแคบลง เวลาหายใจเข้าผ่านตำแหน่งที่แคบ จะทำให้มีการสั่นสะเทือนของลิ้นไก่ และเพดานอ่อน หรือโคนลิ้น ทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น
ชนิดที่สองเป็นการนอนกรนที่เป็นอันตราย
เกิดจากการที่มีทางเดินหายใจแคบมากเวลาหลับ อาจเนื่องจากการที่มีช่องคอแคบมาก เช่น มีเนื้อเยื่อเพดานอ่อน, ลิ้นไก่ หรือโคนลิ้นขนาดใหญ่ และหย่อนยาน หรือเกิดจากต่อมทอมซินที่โตมากจนอุดกั้นช่องคอ หรือบางรายที่มีกระดูกใบหน้าหรือ กรามเล็กทำให้ช่องทางเดินหายใจด้านหลังแคบกว่าปกติ หรือคนที่มีคางสั้นทำให้ลิ้นตกไปทางด้านหลังมากกว่าคนปกติ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีเสียงกรนที่ไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีช่วงที่กรนเสียงดำ และค่อยสลับกันเป็นช่วงๆ และจะกรนดังขึ้นเรื่อยๆ และจะมีช่วงหยุดกรนไปชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการหยุดหายใจนี้ จะทำให้เกิดอันตราย เนื่องจากระดับออกซิเจนในเลือดแดงจะลดต่ำลง ทำให้เกิดความผิดปกติ ในการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด หัวใจ และสมอง เป็นต้น
ร่างกายจะมีกลไกตอบสนองต่อภาวะนี้ โดยสมองจะถูกกระตุ้นให้ตื่นขึ้น ทำให้การหลับของคนนอนกรนนั้นถูกขัดขวาง ทำให้ตื่นขึ้นเพื่อหายใจใหม่ โดยมีอาการสะดุ้งตื่นเหมือนสะดุ้งเฮือก หรืออาการเหมือนสำลักน้ำลายตนเอง หรือหายใจอย่างแรงเหมือนขาดอากาศ
เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอีก หลังจากนั้นไม่นานสมองก็เริ่มหลับอีก การหายใจก็จะเริ่มติดขัดอีกทำให้สมองต้องถูกปลุก หรือกระตุ้นอีก การกลับก็จะถูกขัดขวางอีก วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้การนอนหลับสนิทของคนที่นอนกรนไม่ต่อเนื่องเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ดังนั้นคนนอนกรนจึงตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่านอนไม่พอ แม้ว่าจะนอนเป็นจำนวนชั่วโมงที่มากพอก็ตาม รวมทั้งยังเป็นผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อหัวใจ ระบบไหลเวียนโลหิต ปอด และสมอง
Comments