แผลกดทับ (Bedsores หรือ Decubitus ulcer หรือ Pressure ulcer) คือแผลเปื่อยที่เกิดจากผิวหนังและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้ผิวหนังขาดเลือด สาเหตุจากถูกกดทับเป็นระยะเวลา นานต่อเนื่อง ร่วมกับมีการเสียดสีระหว่างผิวหนังกับกระดูก และ/หรือกับวัสดุที่ใช้รองผิวหนัง ทั้งนี้ มักเกิดกับผิวหนังในส่วนที่ปกคลุมเหนือปุ่มกระดูก เช่น กระดูกใต้กระเบนเหน็บ กระดูกก้นกบ กระดูกปีกสะโพก ข้อศอก ส้นเท้า และ ข้อเข่า
แผลกดทับ มักพบในผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวได้น้อย เช่น ผู้ป่วยอัมพาต คนพิการ ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องนอนอยู่นานๆ
แผลกดทับ จะเริ่มจากการมองเห็นผิวหนังส่วนนั้นคล้ำลง ตามมาด้วยเป็นแผลเปื่อย ต่อ มาแผลจะลุกลามขยายใหญ่ และขยายลงลึกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแผลกดทับ เป็นแผลที่รักษายากมาก การป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
การรักษาแผลกดทับ ที่สำคัญ คือ
การให้ผู้ป่วยเปลี่ยนท่าตลอดเวลาทุกๆ 2 ชั่วโมง
การนอนบนผ้าชนิดพิเศษที่ช่วยการถ่ายเทอากาศและช่วยลดการกดทับ
การนอนบนที่นอนที่ไม่แข็งจนเกินไปและถ่ายเทอากาศสะดวก
การรักษาความสะอาดแผลอย่างเคร่งครัด
การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อแผลมีการติดเชื้อ
อาจต้องผ่าตัดกรณีแผลลุกลามมากและมีเนื้อเน่ามาก
วิธีป้องกันแผลกดทับ
ให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวบ่อยๆ เปลี่ยนท่านั่ง/นอน ทุกๆ 2 ชั่วโมง
ใช้หมอนนุ่มๆหนุนใต้ปุ่มกระดูกเสมอ
รักษาความสะอาดผิวหนังอย่างเคร่งครัด
ต้องดูแลรักษาผิวหนังให้แห้งอยู่เสมอ
ดูแลเรื่องการขับถ่ายไม่ให้ราด/รด หรือ แช่เปียกผิวหนัง
ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนเพียงพอ โดยเฉพาะอาหารโปรตีน
ข้อมูล http://haamor.com/
รูปภาพ http://utaisuk.blogspot.com/
Comments